เรียนนิติศาสตร์ จบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง

08/01/2559 | 12,231



สำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาภาควิชาคณะนิติศาสตร์ แต่ก็ยังสองจิตสองใจไม่รู้ว่าถ้าเลือกเรียนนิติศาสตร์ จบไปแล้วทำอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ ในการสอบเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทย ผู้สนใจมีทางเลือกในการสมัครเรียนนิติศาสตร์ได้มากถึง 4 ช่องทางด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย


ผ่านการสอบ Admission: ผู้สนใจสามารถเลือกเข้าศึกษาต่อด้านนิติศาสตร์โดยการสอบวัดผล Admission ตามปกติ ซึ่งอาจจะใช้เวลาในการรอผลการสอบนานกว่าแบบอื่น ๆ สักหน่อย

สมัครสอบตรง: สำหรับผู้สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านกฎหมายและมีสถาบันการศึกษาในใจอยู่แล้วอย่างเช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สามารถไปสมัครสอบตรงได้ ซึ่งข้อดีของการสอบตรงคือจะเปิดรับจำนวนนิสิตนักศึกษาในอัตราที่มากกว่าการเปิดรับสมัครในรูปแบบอื่น

เลือกศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชน: การเลือกศึกษาต่อนิติศาสตร์ในสถาบันมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีการสอนเป็นภาษาอังกฤษ นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากเพราะไม่เพียงผู้สนใจจะได้ศึกษาตัวบทกฎหมายเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้สนใจสามารถต่อยอดทางการศึกษาในต่างประเทศได้ง่ายขึ้นและเป็นการเพิ่มโอกาสการทำงานในอนาคตได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

เบนเข็มศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิด: การเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเปิดที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับและยืดหยุ่นเรื่องเวลาในการเรียนได้อย่างมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็เหมาะในการเป็นตัวเลือกของผู้สนใจศึกษาด้านนิติศาสตร์แต่ก็ต้องทำงานควบคู่ไปด้วยในขณะเดียวกัน

ผู้สนใจบางท่านอาจยังมองภาพไม่ออกว่า หากเรียนนิติศาสตร์ จบไปแล้วทำอะไรได้บ้าง และจำเป็นต้องประกอบอาชีพทนายความอย่างเดียวหรือเปล่า ในความเป็นจริง นิติบัณฑิตสามารถเลือกศึกษาต่อเนติบัณฑิตไทยเพื่อเป็นอัยการหรือผู้พิพากษาก็ได้ หรืออีกทางหนึ่งก็คือไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทเนติที่ต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยปูทางให้ผู้สนใจสามารถทำวิจัยหรือตีความกฎหมายในบริบทต่าง ๆ ทั้งนี้ อาชีพทำรายได้ของผู้ที่จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มอาชีพหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

1.ข้าราชการตุลาการ: ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์สามารถสอบเข้ารับราชการในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมในสังคมและรักษาผลประโยชน์ให้รัฐหรือไม่ก็สอบเข้ารับราชการในตำแหน่งหน้าที่ผู้พิพากษา ซึ่งจะช่วยให้ความเป็นธรรมในการพิจารณาคดีความต่าง ๆ โดยอาชีพข้าราชการทั้งสองนี้จัดว่ามีเงินเดือนสูงสุดเฉลี่ยประมาณหลักแสนบาท

2.ที่ปรึกษาด้านกฎหมายและทนายความ: ผู้สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์สามารถเลือกทำงานในบริษัทเอกชนใหญ่ ๆ ได้เช่นกัน โดยตำแหน่งที่เปิดกว้างให้นักนิติศาสตร์คือเจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายให้กับหน่วยงานเอกชนและภาครัฐ ตลอดจนเป็นทนายความประจำบริษัทซึ่งแม้จะไม่ใช่งานที่ง่าย แต่รายได้และสวัสดิการก็น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

3.อาจารย์พิเศษ: ผู้ที่สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์ยังมีทางเลือกอาชีพที่น่าสนใจอย่างเช่น อาชีพอาจารย์สอนพิเศษให้กับสถาบันการศึกษาหรือภาคบริษัทเอกชน โดยจุดเด่นของการทำงานเป็นอาจารย์พิเศษคือความสามารถในการจัดตารางทำงานได้อย่างที่ต้องการและสามารถเลือกรับงานได้มากกว่าแห่งเดียว จึงช่วยให้ผู้ที่ทำอาชีพอาจารย์พิเศษมีรายได้มั่นคงและได้รับผลตอบแทนที่ดี

4.เจ้าหน้าที่สินเชื่อ: ในการทำธุรกิจต่าง ๆ ให้เติบโตขึ้น ทั้งสถาบันธนาคาร ภาคบริษัทเอกชนและกลุ่มคนทำงานต่างก็ต้องพึ่งพาสินเชื่อและเงินกู้ ส่งผลให้ปัญหาด้านการเงินและการทำธุรกรรมต่าง ๆ ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่สินเชื่อผู้มีความรู้ด้านกฎหมายและกฎด้านการเงินต่าง ๆ เข้ามาช่วยจัดการในกรณีที่ผู้กู้ยืมไม่สามารถทำการชำระได้ตามกฎหมาย ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์หลาย ๆ คนเลือกประกอบอาชีพนี้ ซึ่งปัจจุบันไม่เพียงเป็นที่ต้องการของตลาดเท่านั้น แต่ยังสามารถเติบโตเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นในสายงานได้ไม่ยากหากมีประสบการณ์และผลงานที่ดี

5.นิติกร: สำหรับผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาในช่วงปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง การประกอบอาชีพนิติกรเป็นบันไดขั้นแรกที่หลาย ๆ คนนึกถึง เพราะไม่ต้องใช้ใบอนุญาตว่าความ แต่ได้ใช้ความรู้ด้านกฎหมายทำงานในสายอาชีพนิติศาสตร์ตามหน่วยงานรัฐที่เปิดรับสมัครปีละหลายอัตรา หรืออีกทางหนึ่งก็คือรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายสืบสวนและสอบสวน ซึ่งไม่จำเป็นต้องออกไปตามจับคนร้ายด้วยตนเองอย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าทางอาชีพนิติกรและเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นยังไม่มีความแน่นอนมากนัก หากเปรียบเทียบกับงานในสายอาชีพอื่น ๆ

บทความอื่นๆ

Top