วิธีต่อรองเงินเดือนให้ได้มากขึ้น เมื่อถูกเรียกสัมภาษณ์

24/03/2568 | 203

เทคนิคต่อรองเงินเดือน

ในโลกของการสมัครงาน หนึ่งในช่วงเวลาที่ทั้งน่าตื่นเต้นและน่ากังวลที่สุดคือการถูกเรียกเข้าสัมภาษณ์ โดยเฉพาะเมื่อถึงช่วงที่ผู้สัมภาษณ์ถามว่า “คุณคาดหวังเงินเดือนเท่าไหร่?” หลายคนคงเลือกตอบแบบหลีกเลี่ยง บางคนลังเลไม่กล้าพูด หรือบางคนพูดออกไปแล้ว กลับรู้สึกว่าเรียกน้อยเกินไป ดังนั้น การ ‘ต่อรองเงินเดือน’ จึงเป็นทักษะสำคัญที่ผู้สมัครงานทุกคนควรมี ไม่ว่าจะเป็นเด็กจบใหม่หรือมืออาชีพ เพราะนอกจากจะส่งผลต่อรายได้แล้ว ยังสะท้อนถึงความมั่นใจและการมองเห็นคุณค่าของตนเองอีกด้วย บทความนี้ แอดจะพาทุกคนไปเรียนรู้เทคนิคต่อรองเงินเดือน และการพูดเรื่องเงินเดือนกับ HR อย่างมีชั้นเชิง เพื่อให้ได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุด


ทำไมการต่อรองเงินเดือนถึงสำคัญ ?

การต่อรองเงินเดือนอย่างเหมาะสมไม่ใช่เรื่องของความโลภ แต่คือการประเมินมูลค่าที่แท้จริงของทักษะ ประสบการณ์ และคุณค่าที่คุณเองสามารถมอบให้กับองค์กรได้ การกล้าพูดเรื่องผลตอบแทนแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในความสามารถ และเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานทางด้านการเงินที่ดีด้วย

หลายคนอาจไม่รู้ว่าเงินเดือนแรกมักเป็นจุดตั้งต้นที่มีผลต่อการปรับขึ้นเงินเดือนในอนาคต รวมถึงโอกาสในการเติบโตและเลื่อนตำแหน่ง เพราะองค์กรส่วนใหญ่มักใช้ฐานเงินเดือนเดิมในการอ้างอิง การต่อรองให้เหมาะสมตั้งแต่แรกจึงเป็นการวางรากฐานด้านการเงินและอาชีพที่มั่นคงในระยะยาวได้


วิธีต่อรองเงินเดือน

วิธีเตรียมตัวก่อนต่อรองเงินเดือนกับ HR ?

การเตรียมตัวคือหัวใจของความสำเร็จในการ "ต่อรองเงินเดือนสัมภาษณ์งาน" เพราะยิ่งคุณมีข้อมูลมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมั่นใจเมื่อต้องตอบคำถามเรื่องเงินเดือน และสามารถเจรจาได้อย่างมีเหตุผลและมืออาชีพมากขึ้น


1. ศึกษาเงินเดือนเฉลี่ยของตำแหน่งงาน

ก่อนจะเริ่มพูดคุยเรื่องเงินเดือนกับ HR การเตรียมข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ ควรหาข้อมูลว่าเงินเดือนของตำแหน่งที่คุณสมัครอยู่ในช่วงประมาณเท่าไหร่ในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเดียวกัน และพื้นที่ที่คุณจะทำงานจริง เพราะค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่และค่าเดินทางนั้นไม่เท่ากัน

คุณสามารถใช้แหล่งข้อมูลจากเว็บไซต์จัดหางานทั่วไป รายงานสำรวจเงินเดือนประจำปี หรือสอบถามจากคนในแวดวงเดียวกัน เพื่อเปรียบเทียบและประเมินช่วงเงินเดือนที่เหมาะสมเบื้องต้นได้ วิธีนี้จะช่วยให้ต่อรองเงินเดือนได้อย่างมั่นใจ และไม่เรียกเงินเดือนต่ำหรือสูงเกินความเป็นจริง


2. ประเมินประสบการณ์และทักษะของตัวเอง

รู้จักจุดแข็งของตัวเองและตอบให้ชัดเจนว่าคุณสามารถสร้างคุณค่าอะไรให้กับบริษัทได้บ้าง เช่น มีประสบการณ์เฉพาะด้าน มี Hard Skill และ Soft Skill อะไรบ้าง มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องมือบางอย่าง หรือมีผลงานที่วัดผลได้ในอดีต สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณมีเหตุผลสนับสนุนเมื่อขอค่าตอบแทนที่สูงขึ้นได้


3. ตอบคำถาม “คาดหวังเงินเดือนเท่าไหร่” ยังไงให้ดี ?

แอดได้คัดตัวอย่างเทคนิคตอบคำถามเรื่องเงินเดือนอย่างมีชั้นเชิงมาให้คุณลองนำไปใช้ในการสัมภาษณ์งานเพื่อต่อรองเงินเดือนดูนะคะ


ตอบด้วยการตั้งช่วงเงินเดือน

เช่น “จากประสบการณ์และข้อมูลตลาด คิดว่าอยู่ในช่วง 30,000 – 35,000 บาท เหมาะสมครับ”


ตอบด้วยการโยนคำถามกลับแบบสุภาพ

เช่น “อยากทราบช่วงเงินเดือนที่บริษัทตั้งไว้สำหรับตำแหน่งนี้ก่อนครับ”


ตอบด้วยการใช้ผลงานสนับสนุน

เช่น “ผมมีประสบการณ์ทำ SEO มากกว่า 3 ปี และเคยช่วยให้เว็บไซต์มีคนเข้าเพิ่มขึ้นถึง 300% เลยคิดว่าเงินเดือนประมาณ 45,000 บาท น่าจะเหมาะสมกับสิ่งที่ผมสามารถทำให้บริษัทได้ครับ”


วิธีต่อรองเงินเดือนกับ HR

เทคนิคต่อรองเงินเดือนให้ได้มากขึ้นอย่างมืออาชีพ

การเจรจาเรื่องเงินเดือนระหว่างการสัมภาษณ์นั้น เป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความมั่นใจ การใช้ภาษาที่เหมาะสม และการเลือกจังหวะที่ดี โดยสามารถทำตามเทคนิคดี ๆ ที่แอดแนะนำมาให้ได้ดังนี้


1. เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม

อย่าเพิ่งพูดถึงเงินเดือนตั้งแต่ต้นการสัมภาษณ์ เพราะ HR ยังไม่รู้ว่าคุณมีความเหมาะสมกับตำแหน่งงานมากแค่ไหน แต่ควรรอให้ถึงช่วงปลายการสัมภาษณ์ หรือเมื่อคุณรู้ว่าบริษัทรู้สึกสนใจในตัวคุณแล้วจึงค่อยเริ่มเจรจา จะทำให้คุณมีแต้มต่อมากขึ้น


2. พูดให้ดูอยากร่วมงาน ไม่ใช่เรียกร้องผลตอบแทน

แทนที่จะพูดว่า “ผมต้องการเงินเดือน 40,000 บาท” ให้พูดว่า “จากประสบการณ์ที่ผ่านมารวมถึงความสามารถในการดูแลโปรเจกต์ ผมคิดว่าเงินเดือนประมาณ 40,000 บาท น่าจะเหมาะสมกับหน้าที่ที่ได้รับ และสิ่งที่ผมสามารถช่วยสร้างให้กับทีมครับ”


3. เสนอเป็นช่วงเงินเดือน ไม่ใช่ตัวเลขตายตัว

การเสนอเงินเดือนในรูปแบบช่วง เช่น 28,000 – 32,000 บาท แทนที่จะยื่นตัวเลขเดียวไปเลย จะช่วยให้การเจรจาดูมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในสายตาของ HR เพราะเปิดโอกาสให้องค์กรได้พิจารณาตามงบประมาณที่มี และยังทำให้คุณดูเป็นคนที่พร้อมปรับตัว พร้อมร่วมงาน มากกว่าจะยึดติดกับผลตอบแทนอย่างเดียว นอกจากนี้ การเสนอเป็นช่วงเงินเดือน ยังช่วยให้คุณมีโอกาสได้ค่าตอบแทนที่ใกล้เคียงหรือสูงกว่าที่คุณต้องการจริง เพราะบางครั้ง HR อาจพิจารณาให้คุณอยู่ในช่วงบนของที่เสนอไว้ ถ้าประเมินแล้วว่าคุณเหมาะสมกับตำแหน่งมากพอ


4. อย่าลืมต่อรองเรื่องอื่นนอกจากขอขึ้นเงินเดือน

บางครั้งบริษัทอาจมีงบจำกัดเรื่องเงินเดือน แต่สามารถให้สวัสดิการอื่นเพิ่มเติมได้ เช่น โบนัสประจำปี วันลาพักร้อนเพิ่ม การทำงานแบบ Hybrid หรือโอกาสในการฝึกอบรม หากรวมผลประโยชน์ทั้งหมดแล้ว ค่าตอบแทนอาจคุ้มค่ากว่าที่คุณคิดไว้


วิธีต่อรองเงินเดือน จบใหม่

สิ่งที่ควรเลี่ยงในการต่อรองเงินเดือน

แม้การต่อรองเงินเดือนจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็มีข้อควรระวังที่ไม่ควรทำเช่นกัน เพราะอาจทำให้เสียโอกาส หรือดูไม่เป็นมืออาชีพได้ ดังนี้

  • อย่าตอบเร็วเกินไป

    ควรฟังรายละเอียดของตำแหน่งและงานให้ครบก่อน ถึงค่อยพูดเรื่องเงินเดือน

  • อย่าเรียกเงินสูงเกินจริง

    ถ้าเรียกเกินกว่าตลาดมาก ๆ โดยไม่มีเหตุผลรองรับ อาจทำให้บริษัทมองว่าคุณไม่เข้าใจตลาดหรือไม่ยืดหยุ่นได้

  • อย่าเปรียบเทียบบริษัทอื่น

    เช่น ‘บริษัทเก่าจ่ายมากกว่า’ หรือ ‘ที่อื่นให้โบนัสเยอะกว่า’ การพูดแบบนี้อาจทำให้คุณดูเป็นคนที่ชอบเปรียบเทียบ และไม่โฟกัสที่ความเหมาะสมของตำแหน่งปัจจุบัน

  • อย่าแสดงท่าทีแข็งกร้าวหรือไม่ยืดหยุ่น

    ความยืดหยุ่นคือคุณสมบัติที่องค์กรต้องการ ดังนั้น การเจรจาที่ดีควรเป็นแบบร่วมมือ ไม่ใช่การแข่งขัน


การต่อรองเงินเดือนอย่างมีชั้นเชิงไม่ได้หมายถึงการเรียกร้องที่เกินจริง แต่คือการประเมินคุณค่าของตัวเอง และแสดงออกด้วยความมั่นใจอย่างมืออาชีพ ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กจบใหม่หรือผู้มีประสบการณ์ ทุกคนก็สามารถเรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคการต่อรองเงินเดือนได้ เพราะการเตรียมตัวที่ดีจะทำให้คุณได้รับข้อเสนอที่สมน้ำสมเนื้อ และเริ่มต้นอาชีพอย่างมั่นคงมากยิ่งขึ้นได้


บทความอื่นๆ

พาเช็ก 7 สัญญาณสำคัญที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องย้ายงานใหม่แล้ว สำหรับคนที่อยากเปลี่ยนงาน แต่กลัว เปลี่ยนงานใหม่แล้วเครียด พร้อมแนะแนวทางเตรียมตัวก่อนเริ่มต้นใหม่อย่างมั่นใจ

  • 29/04/2568
  • 22

เปิดลิสต์ 5 อาชีพมาแรงในปี 2025 ที่ทั้งรายได้ดี อนาคตมั่นคง และเป็นที่ต้องการสูงในตลาดแรงงาน พร้อมเหตุผลว่าทำไมถึงน่าลงทุนและเหมาะกับการเติบโตในยุค AI

  • 29/04/2568
  • 41

รวมเทคนิคต่อรองเงินเดือนงานใหม่ให้ได้มากขึ้นกับ HR อย่างมีชั้นเชิง พร้อมวิธีเตรียมตัวตอบคำถาม และรู้ข้อควรเลี่ยงที่ผู้สมัครงานไม่ควรมองข้าม

  • 24/03/2568
  • 203

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของการทำงานในองค์กรขนาดเล็กและองค์กรใหญ่ ทั้งด้านโอกาสก้าวหน้า ความยืดหยุ่น และวัฒนธรรมองค์กร เพื่อช่วยตัดสินใจ แบบไหนเหมาะกับคุณที่สุด

  • 11/03/2568
  • 220

การทำงานแบบ Hybrid หรือ Hybrid Work เป็นรูปแบบการทำงานที่ผสมผสานระหว่างการทำงานจากที่ออฟฟิศ (On-site) และการทำงานจากที่บ้าน (Remote Work) ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในยุคปัจจุบัน

  • 07/03/2568
  • 224

Thaijob.com แนะนำ 10 เทคนิคตอบคำถามสัมภาษณ์งาน เพิ่มโอกาสได้งานทันที พร้อมเคล็ดลับเตรียมตัวให้มั่นใจ สร้างความประทับใจ และคว้างานที่ใช่ได้ง่ายขึ้น!

  • 30/01/2568
  • 535

แชร์เทคนิคเพิ่มเงินเดือนเมื่อย้ายงานใหม่ ให้คุ้มค่าและไม่ขาดทุน พร้อมเคล็ดลับการเตรียมตัวต่อรองเงินเดือน และวางแผนอนาคต เพิ่มโอกาสเติบโตในสายงานได้ง่ายขึ้น

  • 23/01/2568
  • 240

แนะนำ 5 อาชีพสำหรับ MBTI - INFJ บุคลิกของผู้แนะนำ จะมีอะไรบ้างมาดูกันเลย

  • 06/11/2567
  • 836
Top